
ประเภทของมายากล
MAGIC CATEGORY
ในวงการมายากลโลกนั้น ศิลปะมายากลจะถูกแบ่งออกอยู่เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ นั่นก็คือ “STAGE MAGIC” หรือมายากลเวที และ “CLOSE – UP MAGIC” มายากลระยะใกล้ นั่นเอง
ประเภท Stage Magic นั้นคือการแสดงมายากลบนเวที มักจะมีอุปกรณ์และพร๊อพสิ่งของต่างๆ ซึ่งผู้ชมทั่วไปสามารถนั่งรับชมได้เหมือนละครเวทีได้เลย ต่างกับ Close – up Magic หรือมายากลระยะใกล้ (ซึ่งในสมัยก่อนมักจะพบการแสดงตามท้องถนน หรือ Street Magic) ซึ่งนักมายากลจะมีการพูดคุยและนำเสนอมายากลร่วมกับผู้ชมแบบใกล้ชิด

ปัจจุบันองค์กร FISM (Fédération Internationale des Sociétés Magiques) เครือข่ายมายากลโลก เป็นองค์กรที่รับผิดชอบในการจัดการแข่งขันมายากลโลกเทียบเท่ากับโอลิมปิกกีฬา มีการจัดงานประกวดในทุกๆ 3 ปี ผลัดทวีปกัน โดยมีการแบ่งประเภทของมายากลไว้ทั้งหมด 8 ประเภท ดังนี้
5 ประเภทย่อยของ Stage Magic
1. Manipulation: การแสดงมายากลที่เน้นทักษะความชำนาญของมือ (sleight of hand) โดยที่การแสดงจะส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับ ไพ่ บอล และวัตถุเฉพาะ
2. General Magic: การแสดงมายากลทั่วไป ที่ไม่ได้จำกัดว่าต้องใช้ทักษะใดทักษะหนึ่ง บางครั้งจะเห็นการดีไซน์พร๊อพและเนื้อเรื่องของมายากลที่คล้ายคลึงกับเล่นละครเวที หรือใช้สัตว์ต่างๆเช่น นก กระต่ายมาร่วมในการแสดง ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีการผสมผสานการแสดงร่วมเทคโนโลยีต่างๆอีกด้วย
3. Stage Illusions: การแสดงมายากลที่ใช้วัสดุหรืออุปกรณ์ขนาดใหญ่ ขนาดใหญ่กว่าการแสดงมายากลประเภท “General Magic” มักจะนำเสนอในการสร้างภาพลวงตา ปรากฎการณ์ใหญ่ๆอย่างเช่น การหนีออกจากพันธนาการ การตัดต่อตัว การเสกรถไฟทั้งคัน เป็นต้น
4. Comedy Magic: การแสดงมายากลที่มีจุดประสงค์หลักในการทำให้ผู้ชมขำขัน โดยสามารถเป็นการแสดงในประเภทใด ๆ ข้างต้น แต่จะเน้นที่ลักษณะสร้างความบันเทิง และทำให้ผู้ชมหัวเราะจากการแสดงเป็นหลัก
5. Mental Magic: การแสดงมายากลที่เกี่ยวข้องกับการแสดงพลังจิตที่ดูเหมือนมีพลังเหนือธรรมชาติ เช่น การทำนายความคิด (Prediction), การเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้า (Clairvoyance), ความจำที่เหนือชั้น, หรือการจำลองปรากฏการณ์ที่ไม่คาดคิด
____________________________________
3 ประเภทย่อยของ Close – Up Magic
เป็นการแสดงมายากลที่มักจะทำสำหรับกลุ่มคนขนาดเล็ก โดยผู้ชมจะอยู่ใกล้กับผู้แสดง การแสดงสามารถทำในขณะนั่งหรือยืนหลังโต๊ะ โดยที่บางครั้งผู้ชมบางคนก็จะนั่งอยู่ที่โต๊ะนั้นด้วย แต่การแสดงยังสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้โต๊ะ โดยทั่วไปแล้วอุปกรณ์ที่ใช้จะมีขนาดเล็กและผลลัพธ์ของการแสดงจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ชม
1. Card Magic: การแสดงมายากลที่ใช้ไพ่เป็นอุปกรณ์หลักในการแสดงมายากล
2. Micro Magic: การแสดงมายากลที่ไม่ได้ใช้ไพ่เป็นหลัก แต่เน้นไปที่มายากลทั่วไปขนาดเล็ก เช่น เหรียญ, บอล, ถ้วย, แหวน และอื่นๆ
3. Parlour Magic: การแสดงมายากลที่อยู่ระหว่าง Stage Magic และ Close – up Magic ซึ่งเป็นการแสดงแบบสเกลกลางๆขนาดโรงละครเล็ก บรรยากาศคล้ายกับยืนนำเสนอรูปภาพ Masterpiece ของตัวเองในพิพิธภัณฑ์ ที่มีสไตล์ในการพูดคุยไปพร้อมกับแสดงมายากลไปด้วย
_____________
ทำไมจึงมีหลายประเภทมายากล?
ว่ากันว่า เนื้อหาของ มายากล นั้น เป็นรองแค่ แพทย์ศาสตร์ เท่านั้น ศิลปะที่มีความซับซ้อนและเทคนิคสูงมาก จนบางคนเชื่อว่าเนื้อหาของมันลึกซึ้งและท้าทายความคิดไม่น้อยไปกว่าการศึกษาในสาขาวิชาแพทย์ศาสตร์เลยทีเดียว เพราะการเรียนรู้มายากลไม่ได้แค่เกี่ยวกับการเรียนรู้เทคนิคหรือกลเม็ดในการแสดง แต่ยังเกี่ยวข้องกับการเข้าใจจิตวิทยาของมนุษย์ การสร้างประสบการณ์ให้ผู้ชม
ในขณะที่เทคโนโลยีกำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เป็นที่พูดคุยกันเล่นในวงนักมายากลกันว่า “ทุกๆ 1 นาทีจะมี 3 กลใหม่เกิดขึ้นบนโลกเรา” จึงสรุปได้ว่า มายากลนั้นมีมากมายมหาศาลจนมนุษย์คนๆหนึ่งเรียนรู้ได้ไม่มีที่สิ่นสุด จึงเกิดเป็นประเภทต่างๆเพื่อให้ง่ายต่อการพูดถึง หากเปรียบกับดนตรี ก็จะมีทั้งสาย Classical, Pop, Rock และอื่นๆ นักมายากลส่วนใหญ่จึงจะมีสายประเภทที่ตัวเองชื่นชอบ และศึกษาไปตามแขนงนั้นๆ และมักจะมีผู้เชี่ยวชาญในแขนงนั้นๆที่ศึกษาค้นคว้าเทคนิคใหม่ๆอยู่เสมอๆ
ในเวทีการแข่งขันมายากลโลก FISM นั้น เมื่อนักมายากลต้องการเข้าร่วมการประกวด ก็จะต้องยื่นประเภทที่ตัวเองถนัดและต้องการแข่งขันเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นการจัดระเบียบชิงอับดับหนึ่งของประเภทนั้นๆ .. ใช่ครับ .. มีถ้วยรางวัลมากกว่า 10 กว่าประเภท ยังไม่นับถ้วยอับดับที่ 1 – 3 อีกต่างหาก
แม้ผู้เข้าแข่งขันจะเล่ห์เหลี่ยมยื่นประเภทไม่ตรงกับสายที่ตัวเองแสดง แต่เมื่อถึงตาของกรรมการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสายนั้นๆก็จะมีประชุมและโยกผู้เข้าแข่งขันไปยังประเภทที่ถูกต้องในท้ายที่สุด